บล็อกนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิชาอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

หมอตุลย์แนะเลี่ยงปฏิวัติต้องไม่แตะทหาร


หมอตุลย์แนะนักการเมืองอย่าโยกย้าย ทหาร สร้างเงื่อนไขรัฐประหาร สุดาแนะลงโทษคนผิดก่อนปรองดอง บก.ลายจุดชี้ทหารเป็นแค่เครื่องมือรัฐประหาร เสนอถอดบทเรียนจริงจัง แทนคุณไม่เอารัฐประหารด้วย ย้ำต้องกำจัดคอร์รัปชั่น เนื่องในวาระ 5 ปี การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จัดการเสวนาเรื่อง "การรัฐประหารเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างไร" ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดำเนินรายการโดยวรรณภา ติระสังขะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้ให้ความสนใจร่วมรับฟังเต็มห้องประชุม หมอตุลย์แนะนักการเมืองอย่าโยกย้ายทหาร สร้างเงื่อนไขรัฐประหาร นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน กล่าวว่า รัฐประหารไม่ได้ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น พร้อมยกตัวอย่างว่า หลังรัฐประหาร 2534 เมื่อ รสช.พยายามดำรงตำแหน่งต่อ ก็มีผู้ออกมาคัดค้านการ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ของ รสช.จำนวนมาก จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายมากกว่าเหตุการณ์ 7 ต.ค.51 กับ 19 พ.ค.53 รวมกันเสียอีก ทั้งนี้ นพ.ตุลย์ มองว่า ข้ออ้างของ คมช. ในการทำรัฐประหารที่ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือหมิ่นในหลวงนั้น เป็นข้ออ้างมากกว่า แต่สาเหตุที่แท้จริงมาจากการโยกย้ายทหารของนักการเมือง ดังนั้น หากไม่อยากให้เกิดปฏิวัติรัฐประหาร จะต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้น การแตะต้องทหารทำเท่าที่สมควร ต้องเปิดเผยว่าย้ายใครเพราะอะไร นอกจากนี้ ภาคประชาชนต้องต่อรองกับภาคการเมืองให้ไม่ทุจริตจนเกินสมควร หากทำได้ ทหารจะไม่มีข้ออ้างในการทำรัฐประหาร สุดาแนะลงโทษคนผิดก่อนปรองดอง ด้าน สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยการกล่าวไว้อาลัยถึงนายนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และสุดท้ายผูกคอตายเพื่อพิสูจน์ว่ามีคนที่ยอมพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยจริง พร้อมย้ำว่า ไม่มีการรัฐประหารที่ไม่นองเลือดอย่างที่ คปค.เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติ โดยระบุว่า ตลอดห้าปีที่ผ่านมา มีผู้ที่เสียชีวิตหลายร้อยราย ทั้งจากการสังหารหมู่ที่ราชประสงค์และผ่านฟ้า ทั้งที่ข้อเสนอในการชุมนุมครั้งนั้นเป็นไปตามแนวสันติวิธีคือการให้มีการ เลือกตั้งใหม่ เพื่อแก้วิกฤตอันเนื่องจากรัฐประหาร นอกจากนี้ สุดา ระบุว่า การรัฐประหารยังทำลายระบบนิติรัฐ โดยกฎหมายกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายยึดอำนาจ มีการตั้งคณะกรรมการนอกเหนือกลไกปกติในการตรวจสอบการทุจริต หลักที่ว่าคนยังบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดสูญหายไป ผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นมีความผิดจนกว่าจะถูก คณะนิติราษณ์และ เชิญชวนสื่อให้นำข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์มาถกเถียงเพื่อนำไปสู่ข้อสรุป นอกจากนี้ การเข่นฆ่าประชาชนเมื่อปีที่ผ่านมา ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากกลไกในประเทศไม่ทำงาน อาจให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาช่วย หลังจากนั้นจึงจะสามารถกลับมาปรองดองกันได้ บก.ลายจุดชี้ทหารเป็นแค่เครื่องมือรัฐประหาร เสนอถอดบทเรียนจริงจัง  สมบัติ บุญงามอวงศ์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร ระบุว่า รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ได้เปลี่ยนมือที่ไม่สะอาดนัก เป็นหลังเท้าเขียวๆ ของท็อปบู๊ต เกิดการปกครองโดยระบบทหารเป็นใหญ่ จากทหารอาชีพกลายเป็นทหารการเมือง ที่ให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง หรือเรียกสื่อมาถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ ซึ่งในประเทศประชาธิปไตยจะไม่มีสถานการณ์เช่นนี้ ขณะเดียวกัน การรัฐประหารได้เปลี่ยนประชาชนที่นิ่งเฉยออกสู่ท้องถนน ตั้งคำถามและหาความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บก.ลายจุด กล่าวเสริมว่า แม้ในช่วง 1-2 ปีแรกของรัฐประหารอาจมีบางคนดีใจ โพลล์บางสำนักสำรวจความเห็นพบว่า ประชาชน 80-90% เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ถามว่าคนที่เคยบอกว่าเห็นด้วย วันนี้ความคิดเปลี่ยนไปหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างว่าแม้แต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้ก่อการรัฐประหาร ในที่สุดก็ออกมาแสดงความเห็นว่าไม่ควรทำรัฐประหาร ทั้งนี้ สมบัติเสนอว่า จากนี้ควรมีการดีเบตกันเรื่องนิยามของ "ประชาธิปไตย" โดยเปิดให้มีการอภิปรายถึงประชาธิปไตยทุกรูปแบบ ถ้าเริ่มจากตรงนี้ไม่ได้ เราจะไม่ไปไหน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ "ความดี" และ "คนดี" ที่ต้องตรวจสอบได้ด้วย นอกจากนี้ สมบัติระบุว่า คนที่คอร์รัปชั่นไม่ใช่มีแค่นักการเมือง แต่มีข้าราชการด้วย ดังนั้น ตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงไม่มีการรัฐประหารทุกรัฐบาล โดยเขามองว่า การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ไม่ใช่เจตจำนงของทหาร ทหารเป็นเพียงแค่เครื่องมือของปฏิบัติการในครั้งนี้ และเสนอว่าจะต้องถอดบทเรียนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะวิเคราะห์ผิด โดยเสนอให้คำนึงถึงพลังต่างๆ ในสังคมไทย ที่กระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไทยด้วย และย้ำว่าจะทางออกจากรัฐประหารต้องมุ่งไปที่ประชาชนเท่านั้น แทนคุณไม่เอารัฐประหารด้วย ย้ำต้องกำจัดคอร์รัปชั่น แทนคุณ จิตอิสระ พิธีกรและนักแสดง กล่าวว่า เขาละอายใจทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร เพราะคือความอัปยศที่อัปลักษณ์ เขาเปรียบเทียบว่า ข้ออ้างต่างๆ ในการทำรัฐประหารอย่างคอร์รัปชั่น กาารล้มเจ้า ความแตกแยกในหมู่ประชาชน เป็นเหมือนเนื้องอกหลายจุด แต่กลับมีคนคิดว่า รัฐประหารซึ่งเปรียบได้กับการฉีดไวรัส แล้วจะหาย ซึ่งปรากฏว่าไม่หาย เชื้อโรคกลับบูรณาการ เกิดความแตกแยกยิ่งขึ้น โดยแทนคุณมองว่า แม้ปัญหาต่างๆ จะมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ควรจะแก้เป็นเรื่องๆ ให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อ ไม่ใช่ตัดตอนประชาธิปไตย ซึ่งซ้ำเติมปัญหาขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม แทนคุณระบุว่า การจะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ผู้มีอำนาจที่แท้จริงจะต้องไม่ผูกขาดอำนาจ แม้ว่าอำนาจนั้นจะมาจากประชาชน พร้อมระบุว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น เราไม่ได้เลือกนายที่ตรวจสอบไม่ได้ หรือหลงจนไม่มองว่าถูกหรือผิด ซึ่งเขามองว่าไม่ใช่เพราะประชาชนด้อยคุณภาพ แต่บางทีการรักใครมากๆ อาจทำให้เห็นแต่ข้อดี ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น พร้อมแนะว่าเมื่อนักการเมืองที่รักมีปัญหา ก็ต้องออกมาตรวจสอบด้วย โดยเขาอยากเห็นการทุจริตและการยอมรับการทุจริตหมดไป แทนคุณเสนอว่า คุณภาพของประชาธิปไตยต้องสัมพันธ์กับคุณภาพของประชาชน ดังนั้น ต้องปฏิรูปการศึกษา สร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษา สร้างวุฒิภาวะทางประชาธิปไตย โดยเปิดช่องทางพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ ทั้งนี้ ระหว่างการเสวนามีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้ร่วมเสวนาด้วยการโห่เป็น ระยะๆ อาทิ กรณีที่ นพ.ตุลย์กล่าวถึงการโยกย้ายทหาร หรือการสลายการชุมนุมเมื่อปีที่ผ่านมาว่ามีกลุ่มคนบุกเข้าไปในโรงพยาบาล จุฬาฯ และกรณีที่ แทนคุณกล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการพูดถึงเหตุการณ์การบุกทุบรถนายกฯ ในปี 2552 และการยิงเอ็ม 79 จากกลุ่มไม่ทราบฝ่ายในปี 2553 ซึ่งเขามองว่าเป็นการดิสเครดิตเสื้อแดงและทหาร และใส่ร้ายให้แตกแยกกัน ทั้งนี้ บก.ลายจุดได้กล่าวชื่นชมทั้งสองที่มาร่วมเวทีเสวนา ทั้งที่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ได้ขอให้ผู้ฟังช่วยสร้างบรรยากาศโดยให้เกียรติรับฟังผู้ร่วมเสวนาด้วย ในช่วงท้าย เกิดเหตุชุลมุนขึ้น ขณะที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่าการโห่นั้นไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย และว่ารัฐบาลไหนก็ชั่วอัปรีย์จัญไรเหมือนกัน พร้อมระบุว่า เขาอยากเห็นรัฐบาลโดยประชาชนที่แท้ ไม่ต้องมีสีเสื้อ แต่คิดว่ามันเกิดขึ้นไม่ได้แน่ เพราะว่า ในขณะที่ตนกำลังพูดอยู่นี้ มีผู้ฟังที่ไม่มีมารยาท สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ฟัง จนเกือบเกิดการปะทะกัน จนต้องมีการกันตัวนักศึกษาคนดังกล่าวออกไป ธัญพงศ์ นิลสุวรรณ นายก อมธ. ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาได้เห็นมุมมองจากนัก เคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง ทั้งฝั่งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากที่ตัวแทนแต่ละฝั่งจะเข้ามาพูดคุยกัน นายก อมธ. มองว่า การเสวนาครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี แม้ขณะวิทยากรพูด จะมีผู้ฟังโห่ แสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ตามสถานการณ์ ซึ่งไม่ใช่ปัญหา เพราะถือเป็นการแสดงความเห็น แต่เหตุการณ์วุ่นวายนั้นเกิดขึ้นในตอนที่เปิดให้ผู้ร่วมฟังร่วมซักถาม ซึ่งมีผู้ใช้คำพูดรุนแรงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น "เราควรมองคนทุกคนในระดับเดียวกัน คนทุกคนมีอารมณ์อยู่แล้ว แต่อยู่ที่จะควบคุมได้หรือเปล่า เราตอบไม่ได้ว่าเขาถูกหรือผิด เพราะเกิดจากการกระตุ้นของผู้ร่วมฟังที่ใช้คำพูดที่รุนแรง" นายก อมธ.กล่าวและว่า งานครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ แม้จะมีปัญหาขัดข้องอยู่เล็กน้อย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แต่ละฝ่ายจะได้ฟังความเห็นของอีกฝ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น