บล็อกนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิชาอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับนโยบายการแก้ปัญหาไฟใต้

รูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ รัฐบาลควรนำองค์ความรู้มาศึกษาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากนักวิชาการที่ได้ ศึกษาในโมเดลต่างๆ โดยเฉพาะร่างของคณะทำงานการศึกษาการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 องค์กร เครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่นศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมืองสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เพราะร่างดังกล่าวผ่านกระบวนการทางวิชาการและการลงพื้้นที่กว่า 50 เวทีในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะเดียวกันการอธิบายให้กับคนภายนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นการกระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ หรืออยู่ภายแนวคิด “ท้องถิ่นดูแลตัวเอง” ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
อันเนื่องมาจาก แนวคิด “ท้องถิ่นดูแลตัวเอง” ไม่ใช่การปฏิเสธอำนาจรัฐ และไม่ใช่ก้าวแรกของการแบ่งแยกดินแดน การให้ท้องถิ่นดูแลหรือปกครองตนเองนั้น หมายถึงการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการดำเนินกิจการของท้องถิ่นให้เป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้แต่ละท้องถิ่นสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โดยที่สามารถ “ออกแบบบ้านของตัวเอง” ได้บนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้
เพราะหัวใจของประชาธิปไตยคือ การที่ประชาชนได้ปกครองตนเอง (Self Government) มิใช่เป็นเพียงผู้ถูกปกครองเท่านั้น
หลักการปกครองตนเองได้ถูกประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อย่างชัดเจนในมาตรา 281 ว่า
“ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครอง ตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการ สาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” 
ทั้งนี้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น ระบุให้รัฐต้องส่งเสริม ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีอิสระในการดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นภายใต้หลักบูรณภาพแห่งดินแดนอันแบ่งแยกไม่ได้ โดยราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะต้องไม่แทรกแซงการบริหารกิจการขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ รัฐจะต้องกระจายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ อำนาจการตัดสินใจ และอำนาจการบริหารจัดการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปรับลดบทบาท ตลอดจนลดการกำกับดูแลของราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลง เพื่อให้เป็นไปตามหลักความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะคงไว้ก็แต่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การพิจารณาพิพากษาคดี การต่างประเทศ และการเงินการคลังของประเทศโดยรวมเท่านั้น
ในทางปฏิบัติ รัฐจะต้องจัดให้มีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจหน้าที่ให้แก่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และลดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งระหว่างส่วนต่างๆ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้อง “ก้าวให้พ้นไปจากการควบคุมกำกับ ไปสู่ความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน ต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์แนวตั้งระหว่างรัฐและภูมิภาคที่อยู่ในฐานะควบคุมกำกับ สั่งการ มาเป็นความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาที่มีความเท่าเทียมกันในแนวนอนแทน โดยจะต้องแก้กฎหมาย กฎระเบียบใหม่” โดยกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการกำกับดูแลองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนใน ท้องถิ่นและของประเทศชาติ แต่จะกระทบต่อสาระสำคัญแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ไม่ได้ ซึ่งหากขัดต่อหลักการปกครองตนเอง รัฐก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งระบุว่าหลักเกณฑ์ของการกำกับดูแลควรต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่แตกต่างกันในหลายรูปแบบ เพื่อให้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเลือกไปปฏิบัติเองตามความเหมาะสมหรือการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว ควรทำไปพร้อมกับจังหวัดจัดการตนเองอื่นๆที่พร้อมอย่างเช่นเชียงใหม่มหานคร ที่กำลังเรียกร้องอยู่เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น